เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทำไมยอดดาวยิงของบาเยิร์น มิวนิคอย่าง โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ถึงต้องใส่เสื้อเบอร์ 9 แทนที่จะเป็นเบอร์ 3 และทำไมมิดฟิลด์จอมทัพของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์อย่าง มาร์โค รอยส์ จึงต้องใช้เบอร์หลังเสื้อเป็นเลขสองหลักแทนที่จะเป็นหลักเดียว เรามาทำความรู้จักกับความหมายที่ซ่อนอยู่ของเบอร์เสื้อเหล่านี้กันเลย…
แรกเริ่มเดิมทีนั้นหมายเลขเสื้อในการแข่งขันฟุตบอลมีไว้เพื่อบอกตำแหน่งต่างๆ ในแผนการเล่น ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีการสกรีนชื่อผู้เล่นลงบนเสื้อ หมายเลขเสื้อจะเริ่มต้นตั้งแต่หมายเลข 1 ไปจนถึง 11 เพื่อให้ครบจำนวนผู้เล่นตัวจริง 11 คนในสนาม ส่วนตัวสำรองจะเริ่มที่หมายเลข 12 เป็นต้นไป
สำหรับตามฉบับฟุตบอลเยอรมันดั้งเดิมแล้ว หมายเลขเสื้อจะบ่งบอกถึงตำแหน่งการเล่นดังนี้
#1 – ผู้รักษาประตู
#2 – แบ็คขวา
#3 – แบ็คซ้าย
#4 – เซ็นเตอร์แบ็ค
#5 – เซ็นเตอร์แบ็ค / สวีปเปอร์
#6 – มิดฟิลด์ตัวรับ
#7 – ปีกขวา
#8 – มิดฟิลด์ตัวกลาง
#9 – กองหน้าเซ็นเตอร์
#10 – กองหน้าตัวต่ำ
#11 – ปีกซ้าย
#12+ – ผู้เล่นสำรอง
เมื่อเวลาผ่านไปเบอร์เสื้อก็มีความเกี่ยวพันกับตำแหน่งมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น หมายเลข 5 ได้กลายเป็นเครื่องหมายการค้าของนักเตะระดับตำนานอย่าง ฟร้านซ์ เบ็คเคนเบาเออร์ ในยุค 70
จนบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านผลิตภัณฑ์กีฬาอย่างอาดิดาสถึงขั้นผลิตเสื้อ เบ็คเคนเบาเออร์ หมายเลข 5 ออกมาขายจนถึงทุกวันนี้

แม้ระบบการเล่นจะถูกพัฒนาไปหลายรูปแบบก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเบอร์เสื้อและตำแหน่งก็ยังคงแข็งแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในฤดูกาล 1994/95 นักเตะในบุนเดสลีกาจะได้รับหมายเลขเสื้อกันเกมต่อเกม ไม่มีใครผูกขาดเบอร์ไหนหากไม่ได้ลงเล่นเป็นตัวจริงเล่นตำแหน่งนั้นในเกมนั้นๆ พูดง่ายๆ ก็คือใครเล่นเป็นแบ็คขวาก็ต้องสวมเสื้อเบอร์ 2 เท่านั้น จะสวมเบอร์ 9 ไม่ได้เด็ดขาด
จนกระทั่งในฤดูกาล 2011/12 มีการออกกฎในบุนเดสลีกาให้แต่ละทีมสามารถมอบเบอร์เสื้อตั้งแต่เบอร์ 1 ถึง 40 ให้กับผู้เล่นตั้งแต่ต้นฤดูกาลโดยไม่จำเป็นต้องตรงกับตำแหน่งก็ได้ ยกเว้นแต่ผู้รักษาประตูตัวจริงต้องสวมเบอร์ 1 เท่านั้น
การลดหย่อนผ่อนปรนกฎข้อนี้ทำให้ผู้เล่นสามารถร้องขอเบอร์เสื้อตามได้ที่ตัวเองต้องการ จะเลือกหยิบเบอร์ไหนมาใช้ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเลขนำโชค วันเกิด แต่ขอแค่ให้ไม่เกินเบอร์ 40 เป็นพอ สิ่งนี้ทำให้วัฒนธรรมของเบอร์เสื้อเปลี่ยนไป เราลองมาเปรียบเทียบเบอร์เสื้อของทีมบาเยิร์น มิวนิคชุดฤดูกาล 1995/96 กับชุดฤดูกาล 2018/19 กันดูดีกว่าว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง
.jpg)
บาเยิร์น 1995/96
#1 – ผู้รักษาประตู (โอลิเวอร์ คาห์น)
#2 – แบ็คขวา (มาร์คุส บับเบิ้ล)
#5 – เซ็นเตอร์แบ็ค (โทมัส เฮลเมอร์)
#6 – มิดฟิลด์ตัวรับ (คริสเตียน แนร์ลิงเงอร์)
#7 – มิดฟิลด์ตัวรุก (เมห์เม็ต โชลล์)
#8 – มิดฟิลด์ตัวกลาง (โทมัส สตรุนซ์)
#10 – สวีปเปอร์ (โลธ่าร์ มัทเธอุส)
#14 – มิดฟิลด์ตัวรุก (ซิริอาโก สฟอร์ซา)
#17 – แบ็คซ้าย (คริสเตียน ซีเก้)
#18 – กองหน้า (เจอร์เก้น คลินส์มันน์)
#21 – กองหน้า อเล็กซานเดอร์ ซิกเลอร์)
เบอร์เสื้อสูงที่สุดในทีมชุดใหญ่ – 23
.jpg)
บาเยิร์น 2018/19
#1- ผู้รักษาประตู (มานูเอล นอยเออร์)
#4 – เซ็นเตอร์แบ็ค (นิคลาส ซือเล่อ)
#5 – เซ็นเตอร์แบ็ค (มัทส์ ฮุมเมิลส์)
#6 – มิดฟิลด์ตัวต่ำ (ติอาโก้)
#8 – มิดฟิลด์ตัวรับ (ฆาบี มาร์ติเนซ)
#9 – กองหน้าตัวเป้า (เลวานดอฟสกี้)
#22 – ปีกขวา (แซร์จ นาบรี้)
#25 – กองหน้าตัวต่ำ (โทมัน มุลเลอร์)
#27 – แบ็คซ้าย (ดาวิด อาลาบา)
#29 – ปีกซ้าย (คิงส์ลีย์ โกม็อง)
#32 – แบ็คขวา (โยชัว คิมมิช)
เบอร์เสื้อสูงที่สุดในทีมชุดใหญ่ – 39
โดยพื้นฐานแล้วจะเห็นว่าเบอร์หลังเสื้อส่วนใหญ่ก็ยังคงบอกตำแหน่งอยู่เช่นเคย ยิ่งไปกว่านั้นก็คือช่วยบ่งบอกตัวผู้เล่นไปด้วย บางสโมสรถึงขั้นมีการยกเลิกเบอร์เสื้อให้กับนักเตะระดับตำนาน เช่น หมายเลข 10 ในทีมโคโลญจน์ที่ ลูคัส โพดอลสกี้เคยใส่ ส่วนบาเยิร์นและเบรเมนก็เคยโชว์เหนือยกเลิกเสื้อหมายเลข 12 เพื่อสงวนไว้ให้กับแฟนบอลด้วยความหมายว่าเป็นผู้เล่นคนที่ 12 นั่นเอง
นอกจากเบอร์เสื้อที่บ่งบอกตำแหน่งแล้ว ในแต่ละวัฒนธรรมยังมีการใช้เบอร์เสื้อเพื่อบอกความหมายอื่นๆ ที่ต่างกันอีกด้วย เช่น ในฮอลแลนด์มักให้แบ็คซ้ายสวมเสื้อเบอร์ 5 ส่วนในอิตาลีจะเก็บเสื้อเบอร์ 4 ไว้สำหรับชาวเยอรมัน และอื่นๆ โดยทุกวันนี้เราสามารถพบเห็นวัฒนธรรมการสวมเบอร์เสื้อที่แตกต่างหลากหลายได้เสมอ บิเซ็นเต้ ลิซาราซู เกิดในปี 1969 สูง 169 ซม. หนัก 69 กิโลกรัม เขาจึงเลือกสวมเสื้อเบอร์ 69 (ก่อนยุคที่ถูกจำกัดไม่ให้ใช้เกินเบอร์ 40)

อันเดรียส เกือร์ลิตซ์ สวมเสื้อเบอร์ 77 ในปี 2007/08 เมื่อพาทีมคาร์ลสรูห์เลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในบุนเดสลีกาได้สำเร็จ โดยเป็นหมายเลขนำโชคของเขาที่เอามาจากชื่อวงดนตรีของเขานั่นเอง (Room 77) ในขณะที่ซานโดร วากเนอร์ เลือกสวมเสื้อหมายเลข 2 หลังกลับมาค้าแข้งกับบาเยิร์นเป็นหนที่ 2
ทุกวันนี้การเลือกหมายเลขเสื้อมีความยืดหยุ่นและเปิดกว้างมากขึ้น แบ็คขวาไม่จำเป็นต้องสวมเสื้อเบอร์ 2 อีกต่อไป ไม่เชื่อถามฟิลิปป์ ลาห์ม (เบอร์ 21) หรือ โยชัว คิมมิช (เบอร์ 32) ดูได้เลย เรื่องราวหมายเลขเสื้อที่บ่งชี้ตำแหน่งในสนามดูจะค่อยๆ เลือนลางลงไปทุกทีแล้วล่ะ…